10 ทักษะสำคัญในการทำงาน สิ่งจำเป็นที่คนยุคใหม่ควรมี

ทักษะหรือความชำนาญที่สำคัญในโลกยุคใหม่ บันไดสู่ความสำเร็จทำให้บุคคลมีความโดดเด่นเหนือกว่าคนอื่น ๆ ในโลกยุคดิจิตอล

Category :

10 ทักษะสำคัญในการทำงาน-01

10 ทักษะสำคัญในการทำงาน สิ่งจำเป็นที่คนยุคใหม่ควรมี

เลือกอ่านตามหัวข้อ

ในปัจจุบันสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าโลกของเราได้ก้าวเข้าสู่โลดิจิตอลโดยสมบูรณ์ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไป จากการมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ข่าวสารที่รวดเร็ว การสื่อสารที่ไร้พรมแดน และปัจจัยอีกหลาย ๆ อย่างที่เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน 

รวมถึงในโลกยุคใหม่นี้มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงกว่าอดีตเป็นอย่างมาก บุคคลส่วนใหญ่จึงจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการทํางานที่ดี โดยการมุ่งเน้นไปที่การฝึกฝนตนเองให้ทำงานอย่างเป็นขั้นตอนและมีการวางแผนการทำงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้มีความรู้ความสามารถและความชำนาญในงานที่ปฏิบัติ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับภายในองค์กร

10 ทักษะสำคัญ คืออะไรและสำคัญอย่างไร?

นิยามของคำว่า ทักษะ คือ ความชำนาญหรือความสามารถในการกระทำหรือปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝนหรือการกระทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ซึ่งอาจเป็นทักษะด้านร่างกาย สติปัญญา หรือสังคม

นอกจากนี้คำว่า ทักษะ ได้รับการบัญญัติให้ตรงกับภาษาอังกฤษ คือ Skill ซึ่งในพจนานุกรมเคมบริดจ์ ได้ให้ความหมายว่า “an ability to an do activity or job well, especially Because you have practiced it”  สามารถแปลความหมายได้ว่า ความสามารถในการทำงานใด ๆ ได้ดี เพราะได้รับการฝึกฝนมาแล้วนั่นเอง

โดยทักษะนั้นมีมากมายหลายด้าน แต่ทักษะที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ คือ ทักษะในการทํางาน หมายถึง ความสามารถในการทำงานได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว รวดเร็ว ถูกต้อง มีความแม่นยำ และชำนาญในงานที่ตนเองได้รับมอบหมายจนเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือภายในองค์กร ซึ่งบุคคลที่จะมีทักษะในการทํางานที่ดีได้นั้น โดยทั่วไปจะต้องอาศัยการวางแผนและมีขั้นตอนการทำงานที่ดี การทำงานจึงจะมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จได้

10 ทักษะสำคัญที่ควรฝึกฝนตั้งแต่เด็ก มีอะไรบ้าง

การที่บุคคลจะมีทักษะในการทํางานที่ดีได้นั้นจะต้องมี ทักษะชีวิต 10 ประการ ที่เกิดจากการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ และหากเริ่มนำทักษะต่าง ๆ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ จะยิ่งส่งผลที่ดีและช่วยให้เด็ก ๆ ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วมากกว่าคนอื่นโดย 10 ทักษะสำคัญ ที่ควรฝึกฝนให้แก่เด็ก ๆ ที่เติบโตในโลกยุคดิจิตอล ได้แก่

1. ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)

ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) คือ การฝึกทักษะที่ช่วยให้น้อง ๆ สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาประยุกต์และสร้างเป็นไอเดียใหม่ ๆ โดยสามารถประยุกต์ใช้กับกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) ซึ่งเป็นการใช้กระบวนการทำงานของสมองที่คิดแก้ปัญหาจากการรวบรวมความคิด ตั้งเป็นสมมติฐาน จากนั้นจึงรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อทดสอบสมมติฐานเหล่านั้น และได้ผลลัพธ์เป็นแนวทางใหม่ขึ้นมาที่สามารถทำประโยชน์แก่งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเป็นการช่วยให้เด็ก ๆ มีความคิดหรือจินตนาการในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งแปลกใหม่

2. ทักษะการสื่อสาร (Communication)

ทักษะการสื่อสาร (Communication) หมายถึง  ความสามารถในการรับและส่งสาร เพื่อถ่ายทอด

ความคิด ความรู้ และทัศนคติของตนอย่างเหมาะสมกับสภาพวัฒนธรรมและสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นทักษะที่สำคัญในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การมีทักษะในการสื่อสารที่ดี จะช่วยให้เด็กเป็นทั้งผู้ฟังและผู้พูดที่ดี รวมถึงช่วยสร้างความเข้าใจในการสื่อสารระหว่างผู้พูดและผู้ฟังได้

3. ทักษะการคิด วิเคราะห์ (Critical thinking)

ทักษะการคิด วิเคราะห์ (Critical thinking) เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กเกิดกระบวนการคิดโดยใช้วิจารณญาณ อาศัยเหตุผล หลักฐาน หรือข้อสนับสนุน โดยไม่ใช้อารมณ์ ความเชื่อดั้งเดิม ประสบการณ์ และอคติ ในการคิดและการตัดสินใจ รวมทั้งสามารถเชื่อมโยง รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้าน เพื่อที่จะทำให้คำตอบหรือได้การตัดสินใจ ที่มีโอกาสที่จะถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. ทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership)

ทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership) เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในการพัฒนาศักยภาพของตนเองและเพื่อนร่วมทีม และผู้นำจะต้องนำพาทีมไปสู่จุดหมายนั้นได้สำเร็จ โดยการที่เด็ก ๆ มีทักษะนี้ได้ดีจะต้องฝึกฝนให้พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้  ยอมรับความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก และยังจะต้องเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ แต่ละคนได้แสดงทักษะและความสามารถที่ซ่อนอยู่ เพื่อให้ทุกคนได้เล็งเห็นถึงความสามารถของแต่ละบุคคลที่มีความถนัดที่ต่างกัน และทำให้เห็นว่าการเป็นผู้นำที่ดีจะต้องทำให้ทีมมองไปที่จุดหมายเดียวกันและพากันเดินไปถึงจุดหมายนั้นได้สำเร็จ

5. ทักษะการเจรจาต่อรอง (Negotiation)

ทักษะการเจรจาต่อรอง (Negotiation) เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นในกระบวนการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล สามารถใช้ทักษะนี้ในการแสดงจุดยืนหรือความต้องการของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ และยังสามารถใช้สื่อสารกับผู้อื่นเพื่อร่วมตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. ทักษะสมอง (Brain Skill)

ทักษะสมอง (Brain Skill) คือ ทักษะที่ทำความเข้าใจสมอง กล่าวคือ เป็นการพยายามทำความเข้าใจความคิดของตนเอง สำรวจตนเองอย่างลึกซึ้ง เพื่อนำจุดแข็งของตนเองออกมาใช้ และพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด

7. กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth mindset)

การมีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth mindset) ถือได้ว่าเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เด็ก ๆ ได้รู้จักกับความล้มเหลวหรือข้อผิดพลาดและมองสิ่งเหล่านั้นให้เป็นเรื่องท้าทาย ไม่กลัวที่จะสำรวจอนาคตแม้จะไม่เห็นแสงสว่าง พร้อมลุยต่อแม้จะเจอความล้มเหลว โดยการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่ผ่านมา ให้ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อไป มีความอยากเรียนรู้สิ่งใหม่แม้จะท้าทาย และการมีทักษะนี้จะส่งผลให้เด็ก ๆ เติบโตไปเป็นบุคคลที่เห็นว่าอุปสรรคไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสที่จะลองสิ่งใหม่ ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวต่อไป ซึ่งเป็นทักษะที่ส่งผลให้เกิดกระบวนการคิดที่พยายามพาตัวเองออกจากกรอบเดิม ๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่ดีกว่า

8. ความฉลาดด้านสังคม (Social Intelligence)

ความฉลาดด้านสังคม (Social Intelligence) ก็ถือเป็นทักษะหรือความชำนาญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เด็ก ๆ รู้จักสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะนี้ยังรวมไปถึงการเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี มีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถยอมรับในความแตกต่างในแต่ละบุคคลได้ รู้จักกาลเทศะ สามารถควบคุมการแสดงออกของตนเองได้อย่างเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ 

9. ความฉลาดในการแก้ปัญหา (Adversity Intelligence)

ความฉลาดในการแก้ปัญหา (Adversity Intelligence) เป็นทักษะที่ช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวได้ดีเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคที่ไม่เคยเจอ รวมถึงการพยายามหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยอาศัยหลักเหตุและผล โดยวิเคราะห์จากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมา และบุคคลที่มีทักษะนี้จะสามารถเอาชนะอุปสรรคได้ด้วยตนเอง

10. ความฉลาดด้านอารมณ์ (Emotional Intelligence)

ความฉลาดด้านอารมณ์ (Emotional Intelligence) คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ในตัวบุคคล เนื่องจากการมีจิตใจที่มั่นคง มีการมองโลกในแง่ดี มีความสามารถในการรับรู้ถึงความต้องการของคนอื่น และรู้จักมารยาททาง สังคม ซึ่งเป็นทักษะที่ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดี รวมถึงสามารถคาดเดาและเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นได้ด้วย ซึ่งบุคคลที่มีทักษะนี้มักจะเป็นที่ชื่นชมภายในสังคม 

10 ทักษะสำคัญในการทำงาน มีอะไรบ้าง

จากข้างต้นได้กล่าวถึง 10 ทักษะสำคัญที่ควรฝึกฝนตั้งแต่เด็กที่เป็นทักษะพื้นฐานไปแล้ว ต่อมาเราจะกล่าวถึง 10 ทักษะสำคัญในการทำงานซึ่งเป็นทักษะ Soft skill ที่ได้นำทักษะต่าง ๆ ที่ได้ฝึกฝนในวัยเด็กมาต่อยอดให้เกิดเป็นทักษะที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และทักษะในการทำงานนี้เป็นสิ่งที่สอดรับกับความต้องการในตลาดแรงงานของโลกยุคใหม่ หากมีทักษะเหล่านี้จะทำให้มีความโดดเด่นเหนือกว่าคนอื่น ๆ และทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีทักษะพิเศษรอบด้านซึ่งไม่สามารถแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใด ๆ ได้

ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าโลกของเราหมุนวนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เหล่าบุคคลวัยทำงานจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจคาดไม่ถึงที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งสามารถทำหน้าที่ได้ดีเทียบเท่าหรือดียิ่งกว่ามนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้คนทำงานที่มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปมีโอกาสเสี่ยงตกงานค่อนข้างสูง ดังนั้น มนุษย์อย่างเราจึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะของตนเองไปสู่ทักษะในการทำงานที่สำคัญแห่งโลกยุคใหม่นี้

ทักษะด้านการคิดและแก้ปัญหา

ทักษะด้านการคิดและแก้ปัญหา (Problem solving skill) คือ ความสามารถการคิดของบุคคลในการระบุปัญหา นิยามปัญหา รวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขปัญหา นำข้อมูลที่วิเคราะห์นั้นมาออกแบบวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกลุ่มทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่มีความสำคัญที่สุด ในอนาคตเนื่องจากการทำงานจะยิ่งมีความยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น โลกยุคดิจิตอลที่กำลังมาถึงนี้จึงต้องการพนักงานที่มีทักษะการคิดและตัดสินใจที่ดี และสามารถแก้ปัญหาให้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทักษะด้านการคิดและแก้ปัญหาสามารถแบ่งย่อยออกมาได้ ดังนี้

Analytical thinking and innovation – ทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะด้านนวัตกรรม

บุคคลที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะด้านนวัตกรรมที่ดีนั้น มักจะเป็นคนที่รู้จักคิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผลอยู่ตลอด โดยเราสามารถเรียกทักษะนี้ได้ว่าเป็นทักษะ Data Analysis หรือการวิเคราะห์ข้อมูล คือ การวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ตั้งแต่ อดีต จนถึงปัจจุบันมาวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน โดยสามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้จากการสังเกต การถาม จากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาจับประเด็น แยกแยะและเชื่อมโยง นำไปสู่การคิดสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จนไปถึงทำนายแนวโน้มของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและเตรียมตัวรับมือได้อย่างทันท่วงที

Complex problem-solving – ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน

ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน คือ ทักษะค้นหาสาเหตุต้นตอของปัญหา จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบและปัจจัยต่าง ๆ ในโครงสร้างของปัญหา เพื่อที่จะหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และป้องกันการเกิดปัญหานั้น ๆ ซ้ำขึ้นมาอีก

Critical thinking and analysis – ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์

การคิดเชิงวิพากษ์ คือ กระบวนการคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบและเป็นเหตุเป็นผล ไม่ใส่อคติของตนเองลงไป เกี่ยวกับข้อมูล เหตุการณ์ และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือที่ได้รับรู้มา เพื่อหาข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผลที่พิสูจน์ได้ในเชิงประจักษ์และสามารถเชื่อถือได้

Creativity, originality and initiative – ทักษะความคิดสร้างสรรค์และการริเริ่มสิ่งใหม่

ทักษะความคิดสร้างสรรค์และการริเริ่มสิ่งใหม่ เป็นทักษะที่ส่งเสริมกระบวนการคิดที่เกิดสิ่งแปลกใหม่ มีคุณค่า มีประโยชน์ ผลการคิดอาจออกมาในรูปของสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่ แนวทางในการแก้ปัญหาแบบใหม่ เป็นต้น

Reasoning, problem solving and ideation – ทักษะการใช้เหตุผล ทักษะการตัดสินใจ และทักษะการระดมความคิด

ทักษะการใช้เหตุผล ทักษะการตัดสินใจ และทักษะการระดมความคิด เป็นทักษะที่สำคัณเป็นอย่างมากที่ควรมีติดตัว เนื่องจากทักษะนี้จะช่วยในการแก้ปัญหารอบตัวที่เกิดขึ้น โดยบางอย่างเป็นปัญหาระยะสั้นที่ต้องอาศัยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า บางอย่างต้องแก้ปัญหาแบบระยะยาว ซึ่งการตัดสินใจนั้น ๆ อาจส่งผลต่ออนาคตหรือมีผลกระทบกับบุคคลอื่น ๆ 

ทักษะด้านการจัดการทางอารมณ์ และ บริหารตน

อารมณ์ ส่งผลกระทบทั้งด้านร่างกาย จิตใจและพฤติกรรมของตนเอง รวมทั้งส่งผลต่อผู้อื่นด้วย ดังนั้น การจัดการกับอารมณ์ของตนเองเป็นสิ่งที่ต้องมีความตั้งใจด้วยตัวเราเอง ว่าต้องการที่จะปรับการแสดงออกทางอารมณ์ของตนเองไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะต้องอาศัยการฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอให้เกิดเป็นทักษะและความเชี่ยวชาญในการบริหารตนเอง ควบคุมอารมณ์ตนเองให้ไม่กระทบกับผู้อื่น

Active learning and Self-learning strategies – ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง คือ การศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง แล้วนำความรู้มาปรับใช้ให้เหมาะกับตนเอง ฝึกฝน ปรับปรุง พัฒนา จนเกิดความชำนาญ และสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนรู้นั้นไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับตนเองและส่วนรวม

Resilience, stress tolerance and flexibility – ทักษะการรับมือกับปัญหา อดทนต่อความกดดัน ทักษะการปรับตัว

ทักษะการรับมือกับปัญหา อดทนต่อความกดดัน ทักษะการปรับตัว เป็นทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตการทำงานเนื่องจาก “แรงกดดัน” เป็นสิ่งที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นภายในองค์กร เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก จึงจำเป็นต้องฝึกทำงานภายใต้แรงกดดันและปรับตัวให้เข้ากับบุคคลภายในองค์กรให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้ผลลัพธ์ในการทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทักษะด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น

ในโลกยุคใหม่นี้ต้องการผู้นำที่มีอุดมการณ์และเป้าหมายที่ชัดเจนและพร้อมผลักดันเพื่อขับเคลื่อนบุคลากรและองค์กรไปข้างหน้า ผู้นำในยุคใหม่รวมถึงในอนาคตอันใกล้นี้จึงต้องมี Leadership & Social Influence หรือ ทักษะการเป็นผู้นำและอิทธิพลทางสังคม ที่จะช่วยให้ผู้นำสามารถสร้างแรงบันดาลใจ สร้างสังคมการทำงานที่ดีซึ่งเป็นสังคมที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและมีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อดึงศักยภาพสูงสุดของทีมออกมา และนำพาบุคลากรในทีมบรรลุถึงเป้าหมายตามที่ตั้งไว้

นอกจากนี้ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้นยังควรมี Empathy คือ ความสามารถในการเข้าใจคนอื่นในมุมมองที่พวกเขาเป็น และป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้แต่ละบุคคลเกิดความเข้าใจกันในมุมมองที่หลากหลาย ส่งผลให้น้อง ๆ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างหลากหลายและมีความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน

ทักษะด้านเทคโนโลยี

ในโลกยุคใหม่นี้องค์กรหรือธุรกิจจะต้องปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมากขึ้น ดังนั้น ทักษะการใช้เทคโนโลยี เครื่องมือดิจิตอลและโปรแกรมใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ นอกจากนี้ทักษะด้านการออกแบบและเขียนโปรแกรมก็จะมีความจำเป็นส่งผลให้มีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

Technology use, monitoring and control – ทักษะการใช้ ดูแล และจัดการเทคโนโลยี

การควบคุมเทคโนโลยียังคงต้องใช้สมองและฝีมือของ “มนุษย์” แม้ว้าเทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าและเข้ามามีบทบาทต่อการทำงานภายในองค์กร ดังนั้น การมีทักษะการใช้ ดูแล และจัดการเทคโนโลยี ตลอดจนมีความเข้าใจเทคโนโลยีด้านซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เช่น ระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์, การทำงานเกี่ยวกับข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นต้น บุคคลที่มีความสามารถเหล่านี้ก็จะยิ่งได้เปรียบและเติบโตในยุคนั้นได้ดี

Technology design & programming ทักษะการออกแบบและการเขียนโปรแกรม

ทักษะการออกแบบและการเขียนโปรแกรม เป็นทักษะการออกแบบและสร้างชุดคำสั่งสำหรับเทคโนโลยี โดยจะเน้นการออกแบบโปรแกรมให้ใช้งานง่าย และ User Friendly มากที่สุด เพื่อเป็นเหมือนเครื่องทุ่นแรงในการทำงาน ทำให้การทำงานมีความสะดวกมากขึ้น ช่วยลดระยะเวลาของงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ เพื่อลดแรงงานคนและทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สรุป

10 ทักษะสำคัญที่ควรฝึกฝนตั้งแต่เด็ก และ 10 ทักษะในการทำงาน คือ ทักษะพื้นฐานที่จะทำให้บุคคลมีความโดดเด่นเหนือกว่าคนอื่น ๆ ในโลกยุคดิจิตอล และทำให้เป็นผู้ที่ไม่สามารถแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใด ๆ ได้ นอกจากนี้การที่มีทักษะแห่งโลกอนาคตเหล่านี้ยังส่งผลให้พร้อมที่จะรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ได้ อีกทั้งยังเป็นบันไดให้คุณสามารถพัฒนาไปสู่ทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตได้อย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง