Design Thinking (Design Thinking Process) หัวใจหลักในการพัฒนาธุรกิจ

Design Thinking การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และนำไปต่อยอดเป็นแนวคิดใหม่ ๆ ทางการตลาด โดยเริ่มจากการหาสาเหตุและต้นตอของปัญหาภายในธุรกิจ

Category :

Design Thinking-01

Design Thinking หรือการคิดเชิงออกแบบ หัวใจหลักในการพัฒนาธุรกิจ

 

ในโลกยุคใหม่ที่มีการแข่งขันทางธุรกิจสูงนี้ ธุรกิจต่าง ๆ ในตลาดก็จะต้องขวนขวายที่จะหาทางคิดและผลิตข้าวของเครื่องใช้ ผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด และยังจะต้องตรงใจผู้บริโภคที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังจะต้องคิดหาวิธีที่จะทำให้องค์กรหรือธุรกิจประสบความสำเร็จสูงที่สุด จึงทำให้ผู้ประกอบการในหลาย ๆ องค์กรมีการนำเอากระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) นี้มาใช้ในธุรกิจของตน 

Design Thinking คือ กุญแจสำคัญในสังคมโลกยุคดิจิตอล

การคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking คือ กระบวนการทางความคิดในการพยายามทำความเข้าใจสมมติฐานที่อาจจะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ และทำการกำหนดปัญหา ต่อมาจึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาอย่างตรงจุดเพื่อแก้ไขปัญหาหรือโจทย์ที่ตั้งไว้ ตลอดจนการนำวิธีการแก้ปัญหาที่ได้มาพัฒนาให้เกิดเป็นแนวคิดใหม่ ๆ  เพื่อที่จะหาวิถีทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดและเหมาะสมที่สุด วิธีการคิดเชิงออกแบบนี้ต้องอาศัยทักษะการทำงานร่วมกันในแต่ละบุคคล วิธีการนี้จึงมีส่วนช่วยในการพัฒนาวิธีการคิดและการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น

 

ผลลัพธ์ของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร

กระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) เป็นการส่งเสริมให้เกิดการคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งเป็นผลดี ที่จะนำองค์ความรู้จากแง่มุมที่แปลกใหม่มาคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา พยายามหาหนทางที่มากกว่าสิ่งที่ตนเองคุ้นเคยเพื่อหาทางลัดใหม่ ๆ ให้การแก้ปัญหาเหล่านั้นเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยประโยชน์ต่าง ๆ ของการทำงานโดยใช้หลักการ Design Thinking มีมากมาย ได้แก่ 

 

  • การแก้ปัญหาโดยใช้หลักการ Design Thinking เป็นการฝึกกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน 

กระบวนการนี้จะทำให้เราได้ลองมองปัญหาอย่างรอบคอบและละเอียดมากขึ้นจากการหาสาเหตุ และต้นตอของปัญหา ส่งผลให้เราได้เห็นถึงแก่นหลักของปัญหานั้น ๆ และการระบุปัญหาเพื่อไม่ให้การแก้ปัญหาของเราสะเปะสะปะมั่วซั่ว จากนั้นจึงนำปัญหามาวิเคราะห์และ ทำให้เราเข้าใจปัญหาได้อย่างถ่องแท้ และแก้ไขได้ตรงจุด

  • การแก้ปัญหาโดยใช้หลักการ Design Thinking ส่งผลให้มีทางเลือกที่หลากหลาย 

หลักการ Design Thinking เป็นวิธีการหาทางแก้ไขปัญหาที่มีการระดมความคิดบนพื้นฐานข้อมูลที่หลากหลาย จากหลากหลายความคิด หลากหลายแง่มุม ตลอดจนพยายามคิดหาวิถีทางหรือแชร์ไอเดียที่ดีออกมาในหลากหลายรูปแบบ ส่งผลให้เราได้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้าน และมีตัวเลือกมากมาย ก่อนนำตัวเลือกที่ดีที่สุดไปใช้แก้ปัญหาหรือนำไปปฎิบัติจริง

  • การแก้ปัญหาโดยใช้หลักการ Design Thinking เป็นการส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์  

โดยการแชร์ไอเดีย ตลอดจนระดมความคิดนั้น ทำให้สมองเราฝึกคิดหลากหลายรูปแบบ เนื่องจากจะต้องคิดหาวิธีการที่หลากหลาย จากหลาย ๆ มุมมอง และทำให้เรารู้จักหาวิธีที่แปลกใหม่ เหนือจากขอบเขตเดิม ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการฝึกความคิดสร้างสรรค์ที่ดีและเป็นพื้นฐานที่ดีในการแก้ปัญหา ตลอดจนการบริหารจัดการ และการที่เราได้พยายามฝึกคิดถึงวิธีการใหม่ ๆ นี้ จะทำให้เราได้ค้นพบวิธีใหม่ๆ เสมอ ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาได้เช่นกัน

  • การแก้ปัญหาโดยใช้หลักการ Design Thinking ส่งผลให้มีแผนสำรองในการแก้ปัญหา

Design Thinking Process เป็นกระบวนการที่ทำให้เราได้มีการคิดที่หลากหลายวิธี ซึ่งนอกจากจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์เลือกวิธีที่ดีที่สุดได้แล้วนั้นยังทำให้เรามีตัวเลือกสำรองอีกด้วย โดยวิธีการเหล่านั้นได้ผ่านกระบวนการลำดับความสำคัญมาเรียบร้อยแล้ว ทำให้เราสามารถเลือกใช้แก้ปัญหาได้ทันท่วงทีหากวิธีการแรกที่เราคิดว่าดีที่สุดไม่ประสบความสำเร็จในด้านการนำมาปฏิบัติใช้จริง

  • บุคลากรภายในองค์กรมีการทำงานอย่างเป็นระบบ  

เมื่อบุคลากรถูกฝึกให้คิดอย่างเป็นระบบแบบแผนผ่านการทำงานที่จะต้องแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักการ Design Thinking ซึ่งเป็นการปลูกฝังระบบการทำงานที่ดี ส่งผลให้องค์กรมีการทำงานอย่างเป็นระบบ และทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรและองค์กร

 

กระบวนการทำงานแบบเป็นขั้นตอน Design Thinking (Design Thinking Process)  บันไดสู่ความสำเร็จ

การนำเอากระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) มาใช้ภายในองค์กรนั้นอาจจะเห็นผลชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อเรานำไปใช้กับกระบวนการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคตลอดจนนำไปต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการขึ้นมาเพื่ออุดรูรั่วของตลาดนั้น ๆ ที่ตอบโจทย์ในสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ  ตลอดจนสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นก็สามารถเป็นได้ ซึ่งการนำเอาวิธีการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาใช้ให้เกิดประโยชน์นี้จะทำให้เราเข้าใจปัญหาภายในองค์กรหรือธุรกิจได้อย่างถ่องแท้ เห็นถึงต้นตอของปัญหา ส่งผลให้เกิดการผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในตลาดตลอดจนแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงถึงต้นตอของปัญหานั้น ๆ

 

กระบวนการออกแบบ Design Thinking มีอะไรบ้าง

Design Thinking หรือ “กระบวนการคิดในเชิงออกแบบ” นิยมนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์กรเรื่อยมาตั้งแต่โลกเราก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนเกิดการปลูกฝังระบบวิธีคิดโดยใช้กระบวนการนี้ให้กับบุคลากรในองค์กร เพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานตามตำแหน่งและความสามารถของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการคิดในรูปแบบ Design Thinking มีลักษณะและกระบวนการที่สร้างสรรค์ขึ้นมา ทำให้เกิดประสิทธิผลใหม่ ๆ ซึ่งเป็นหลักการที่ช่วยทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างดี โดยกระบวนการหลักๆของ Design Thinking หรือ “กระบวนการคิดในเชิงออกแบบ” คือ

 

  1. การเข้าใจปัญหาของกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าในถูกต้อง (Human Centered) 

 

  1. กระบวนการคิดและแก้ไขปัญหา (Ideation & Brainstorming) 

 

  1. การลงมือทำและทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย  (Prototype and Implement)

 

จากกระบวนการต่าง ๆ ข้างต้นนั้นสามารถจำแนกออกมาให้เข้าใจได้ง่ายผ่านโมเดลของ D.School, Stanford university แบ่งย่อยออกมาได้ 5 ขั้นตอน ดังนี้

 

1. Empathize หรือ การเข้าใจปัญหา

การเข้าใจปัญหา หรือ Empathize คือ ขั้นตอนแรกของ Design Thinking โดยนำเอา Empathy (การเข้าอกเข้าใจ) เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา สามารถอธิบายได้ว่าเป็นกระบวนการที่พยายามวิเคราะห์และทำความเข้าใจพฤติกรรมของ User (ผู้ใช้งาน) หรือกลุ่มเป้าหมาย ขั้นตอนนี้จะเปรียบเสมือนการสังเกตและการสัมภาษณ์ถามกลุ่มเป้าหมายที่เป็นหัวใจหลักของ Design Thinking เพื่อให้เข้าใจเป้าหมายและประเด็นที่ต้องการแก้ไขอย่างถ่องแท้ โดยขั้นตอนนี้จะกระตุ้นให้บุคคลเกิดการใช้ความคิดที่นำไปสู่ความสร้างสรรค์ ตลอดจนเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์ปัญหาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อหาแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา นอกจากนี้การเข้าใจในปัญหาอย่างลึกซึ้งนั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นถึงต้นตอ ส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ออกมาอย่างยอดเยี่ยม

 

2. Define หรือ การนิยามปัญหาให้ชัดเจน

การนิยามปัญหาให้ชัดเจน หรือ Define คือ การระบุปัญหา หรือประเด็นที่ต้องการจะแก้ไข  (Problem statement) ในหลัการของ Design Thinking เมื่อเรารู้ถึงข้อมูลปัญหาที่ชัดเจนจากการวิเคราะห์หาต้นเหตุของปัญหา ตลอดจนวิเคราะห์อย่างรอบด้านแล้ว จากนั้นจึงนำเอาข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ เพื่อที่จะคัดกรองและระบุว่าเป็นปัญหาที่แท้จริง เป็นการกำหนดหรือบ่งชี้ปัญหาอย่างชัดเจน เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการปฎิบัติการในกระบวนการหรือขั้นตอนต่อไป รวมถึงเป็นการทำให้การแก้ปัญหานี้มีแก่นยึดส่งผบให้สามารถทำการออกแบบแก้ไขปัญหาได้อย่างมีทิศทาง

 

3. Ideate หรือ การระดมความคิด

การระดมความคิด หรือ Ideate คือ การนำเสนอแนวความคิดในการแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่าง ๆ อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ตามหลักการ Design Thinking โดยใช้วิธีการระดมสมองจากหลากหลายวิธีคิดและมุมมอง ไม่จำเป็นที่จะเกิดจากความคิดของบุคคลเดียว แต่เป็นการผสมผสานความคิดจากหลากหลายที่มา เพื่อให้ได้มุมมองและวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลายออกมาให้มากที่สุด นำมาเป็นฐานข้อมูลในการที่จะนำไปวิเคราะห์ประเมินผลวิธีการเหล่านั้น เพื่อสรุปเป็นความคิดที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ต่อไป

 

4. Prototype หรือ การสร้างต้นแบบ

การสร้างต้นแบบ หรือ Prototype คือการแปลงไอเดียให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างง่ายสุด สะดวกและรวดเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นต้นแบบไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายสำหรับผู้ใช้งาน หรือกลุ่มตัวอย่างลูกค้าของเรา และจากนั้นจึงทำการสังเกตหรือสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อเก็บเป็นข้อมูลจากผู้ใช้งานก่อนการสร้างสินค้าจริง 

 

ในขั้นตอนนี้ตามหลักการ Design Thinking เป็นการลงมือปฎิบัติจริง โดยทดลองตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้กำหนดไว้ที่สามารถกล่าวได้อีกอย่างว่า Prototype คือ การพัฒนาต้นแบบว่าสินค้าหรือบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ จากธุรกิจหรือองค์กรของเรานั้้นสามารถตอบสนองความต้องการภายในตลาดได้หรือไม่ โดยทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่าง และเมื่อได้ข้อเสนอแนะเหล่านั้นจะเป็นการชี้ให้เห็นถึงข้อผิดพลาดและนำมาปรับปรุงต้นแบบได้อย่างตรงจุดจนสมบูรณ์พร้อมออกสู่ตลาด

 

4. Test หรือ การทดสอบ

ขั้นตอนการ Test หรือ การทดสอบ เป็นขั้นตอนสุดท้ายตามการทำงานโดยใช้ Design Thinking จากโมเดลของ D.School, Stanford university โดยสามารถนิยามขั้นตอนการทดสอบได้ว่า เป็นการทดลองนำต้นแบบที่สมบูรณ์หรือข้อสรุปที่จะนำไปใช้จริงมาปฎิบัติก่อน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ ตลอดจนประเมินผล จากนั้นจึงนำเอาปัญหาหรือข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้นมาปรับปรุงแก้ไข ก่อนนำไปใช้จริงอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสามารถปล่อยสินค้าหรือบริการออกสู่ตลาดได้นั่นเอง

นอกจากนี้กระบวนการของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) นั้นมีการนำมาประยุกต์ใช้และสร้างเป็นโมเดลขึ้นหลายรูปแบบและอีกหนึ่งรูปแบบที่นิยมใช้ไม่แพ้กัน คือ โมเดลเพชรคู่ หรือ Double Diamond ที่ได้รับความนิยมในระดับสากลนั่นเอง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนที่เรียกง่าย ๆ ว่า 4D ดังนี้

 

ขั้นตอนที่ 1 : ค้นพบ – Discover

ในขั้นตอนแรกของ Design Thinking Process ในรูปแบบโมเดลนี้ก็คือการค้นพบปัญหาจากการมองโลกในรูปแบบใหม่ สังเกตสิ่งใหม่ ๆ แล้วทำความเข้าใจกับปัญหาอย่างลึกซึ้งและหลากหลายมิติให้มากที่สุด ด้วยกระบวนการวิจัย (research) แล้วนำมาวิเคราะห์ (Analysis) และสังเคราะห์ (Synthesize) ค้นหาประเด็นปัญหาที่แท้จริง เพื่อที่จะนำไปสู่การหาทางออกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

ขั้นตอนที่ 2 : บ่งชี้ หรือ กำหนด – Define

เป็นการทำความเข้าใจถึงความเป็นไปได้ทั้งหมดในขั้นตอนแรก แล้วคัดกรองให้เป็นปัญหาที่แท้จริง ระบุสิ่งที่เป็นไปได้ และหาข้อสรุปที่ชัดเจนของปัญหาหรือความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อที่จะได้มีจุดหมายในการหาทางแก้ไขได้อย่างตรงประเด็น มีทิศทางชัดเจน

 

ขั้นตอนที่ 3 : พัฒนา – Develop

ขั้นตอนของการพัฒนา คือการระดมสมอง แชร์ไอเดีย เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยคิดให้รอบด้านที่สุด ในหลากหลายมุมมอง นำไปสู่วิธีการสร้างทางแก้ไข หรือแนวคิดสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่จะเป็นตัวชี้วัดให้เรานำไปทดสอบแนวคิดที่ได้มา จากนั้นนำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ได้ต้นแบบที่จะสามารถตอบโจทย์ของกลุ่มเป้าหมายได้อบ่างถูกจุด

 

ขั้นตอนที่ 4 : นำไปปฎิบัติจริง – Deliver

เลือกวิธีที่ดีที่สุดเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาจริง โดยนำวิธีการแก้ไขปัญหาที่ได้มาไปทดลองหรือทดสอบโดยการปฏิบัติจริงเพื่อบันทึกผลว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เป็นการส่งมอบผลิตภัณฑ์หรือบริการที่พัฒนาขึ้นมาให้กับกลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภค ตลอดจนเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาประมวลผลเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข

 

สรุป Design Thinking กระบวนการแก้ปัญหาที่ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ

Design Thinking เป็นกระบวนการแก้ปัญหาโดยใช้หลักการคิดเชิงออกแบบ ที่มีปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับลูกค้า กลุ่มเป้าหมายหลัก หรือคนใช้งานตรง ๆ คืออธิบายได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับการต้องการในท้องตลาดด้วยการวิเคราะห์จนถึงแก่นของความต้องการของผู้ใช้งานจริง ๆ แล้วจึงค่อยผลิตสินค้าออกมาสู่ตลาด ดังนั้น ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สร้างขึ้นมาจึงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายโดยตรง ส่งผลให้ผลการดำเนินงานภายในธุรกิจประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง