Play-Based Learning การเรียนรู้ผ่านการเล่น เสริมสร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่

Category :

Play-based learning คืออะไร?

Play-Based Learning การเรียนรู้ผ่านการเล่น

เลือกอ่านตามหัวข้อ

การเรียนผ่านการเล่น (Play-Based Learning) คืออะไร?

คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ว่า การเรียนกับการเล่น สองสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นขั้วตรงข้ามกัน แต่กลับมาอยู่รวมกันได้ในการเรียนผ่านการเล่น หรือ Play-Based Learning จะดีแค่ไหน ถ้าเด็กๆ ได้ความสนุกสนานไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ ทำให้เรื่องที่ดูเข้าใจยากสำหรับเด็กกลายมาเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เพราะความสนุก การได้ขยับร่างกาย การได้คิดและลงมือทำผ่านการเล่น จะทำให้เด็ก ๆ เปิดใจในการเรียนรู้ได้ง่าย รู้ตัวอีกทีก็ได้ความรู้ในเรื่องนั้นๆ ไปแล้ว โดยไม่ได้คิดว่าเป็นการเรียนด้วยซ้ำไป กล่าวคือ การเล่นเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และสามารถนําไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่ เกิดการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัวและสามารถเป็นเครื่องมือที่ปรับสู่ภาวะสมดุลย์ทางอารมณ์

วันนี้ Code Genius Academy สถาบันสอน Coding ที่มีจุดเด่นคือการเรียน Coding ผ่านกิจกรรม ได้ทั้งความรู้ ทักษะการแก้ปัญหา และความสนุกสนานจากการเล่น จะพามารู้จักกับ Play-Based Learning รวมไปถึงทักษะ พัฒนาการ และหลักคิดที่จะได้จากการเรียนรู้ในรูปแบบนี้

5 พัฒนาการ ที่เด็กได้จาก Play-based learning การเรียนรู้ผ่านการเล่น

การจัดบทเรียนให้มีกิจกรรมการเล่น ย่อมจะทําให้เด็กสนุกสนานและอยากเรียนมากขึ้น ครูจะแทรกบทเรียนไว้ในการเล่นการทํากิจกรรม เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนด้วยการกระทํา ด้วยการแสดง ด้วยการเล่น ภายใต้การควบคุมของครู เป็นการนําเอาความซุกซนของเด็กมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนการเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-Based Learning) ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ 5 ด้านด้วยกัน

infographic 5 พัฒนาการจากการเรียนรู้แบบ play-based learning

1. Social and Emotional Skills : พัฒนาการทางด้านสังคมและความรู้สึก

การเรียนรู้ผ่านการเล่น หรือ Play-Based Learning นั้นจะต้องใช้การสื่อสาร (Communicate) การรู้จักการรอคอยเพื่อให้ถึงคิวของตัวเอง (take turns) การแบ่งปัน (sharing) การร่วมมือกัน (Cooperate) การแก้ปัญหา (Problem Solving) โดยเฉพาะเมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้นมาในระหว่างการเล่น ซึ่งทักษะที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นทักษะทางสังคมที่จำเป็น โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เมื่อพาเด็กเล็กไปพบเพื่อนใหม่ที่ไม่คุ้นเคย หรือสถานที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป เด็กๆ จะต้องรู้จักจัดการกับความรู้สึกที่ถูกต้อง ด้วยทักษะทางด้านสังคม เพื่อสามารถแก้ปัญหาเมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่ปกติสำหรับตัวเองได้

2. Language and Literacy Development : ทักษะด้านภาษาและการอ่านออกเขียนได้

การเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-Based Learning) มีส่วนช่วยส่งเสริมการพูดคุยและสื่อสารโดยธรรมชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทางด้านภาษาและการอ่านออกเขียนได้ในที่สุด แม้แต่ตอนที่เด็กเล่นคนเดียว เราจะสังเกตได้ว่าเด็กจะพูดคุยสื่อสารกับของเล่น โดยการมอบหมายบทบาทให้กับของเล่นแต่ละชิ้น หรือเมื่อเด็กได้เล่นกับเพื่อนคนอื่นๆ จะยิ่งช่วยเสริมสร้างการเล่าเรื่องราว การโต้แย้ง การเล่นตามบทบาทที่ได้รับ มีภารกิจกลุ่มที่มีเป้าหมายร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น การเล่นทำกับข้าว เด็กๆ จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าจะทำอาหารอะไร ใครจะเป็นคนลงมือทำ ใครจะเล่นเป็นคุณแม่ คุณพ่อ หรือเด็กน้อยในบ้าน

คุณครูจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านภาษา โดยการส่งเสริมการพูดคุยสนทนากันในชั้นเรียน แนะนำคำศัพท์ใหม่ๆ ประกอบไปกับความรู้หลัก การถามตอบ การส่งเสริมให้มีการยกมือถาม การจูงใจด้วยคะแนนหรือของรางวัล เป็นต้น

3. Creativity and Imagination : ทักษะการสร้างสรรค์และจินตนาการ

ทักษะด้านนี้เป็นทักษะที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้ที่เด็กๆ จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self-directed) โดยเฉพาะในเด็กที่ได้มีโอกาสเล่นอย่างเต็มที่ เด็กๆ จะได้เลือกสิ่งแวดล้อมที่ต้องการเล่น และได้เล่นอย่างสร้างสรรค์ 

เมื่อเด็กๆ เรียนรู้แบบ Play-based learning ผ่านการลองเล่นเป็นคุณหมอ สัตวแพทย์ คุณแม่ คุณครู ได้ใช้อุปกรณ์ต่างๆ รอบตัวในการสร้างสรรค์จินตนาการให้เป็นอย่างที่ใจคิด เช่น ท่อนไม้คือมีด แก้วน้ำคือโทรศัพท์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา และมีความคิดสร้างสรรค์ในการเปลี่ยนสิ่งของรอบตัวให้เป็นสิ่งต่างๆ ตามจินตนาการ อีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริม Design Thinking หรือวิธีการออกแบบความคิดเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอีกด้วย

4. Courage : ความกล้าหาญ

การเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-Based Learning) ส่งเสริมให้เด็กๆ กล้าคิด กล้าสื่อสารกับกลุ่ม อยากทดลองสิ่งใหม่ๆ เองอย่างมั่นใจ การที่จะให้เด็กๆ อยากที่จะเรียนรู้โดยไร้ความกดดันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการเล่นทำให้รู้สึกเป็นอิสระและเสริมสร้างความสุขในการเรียน

5. Motor Skill : ทักษะด้านร่างกาย

การเล่นแบบ Play-based Learning สามารถเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ การวาดรูประบายสี การเขียน การต่อบล็อคสร้างบ้าน การต่อวงจรเบื้องต้น และการเล่นบทบาทสมมุติ ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor) ส่วนการปีนป่าย การกระโดด การเต้นเข้าจังหวะ การวิ่ง และการขว้างสิ่งของช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่

Play-based Learning นำมาใช้จริงได้อย่างไร

การเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-based Learning) จะเกิดขึ้นจริงได้ เริ่มจากผู้สอนและพ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องก้าวออกจากกรอบว่าการเรียนรู้ไม่ได้มาจากการนั่งฟังครู หรือการเปิดหนังสืออ่านเท่านั้น แต่ยังมีวิธีสนุกสนานอีกมากที่หากนำมาประยุกต์ใช้ก็อาจได้ผลลัพธ์ดีอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้

ผู้คิดหลักสูตร Play-based Learning จะต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ที่ชอบเล่นมากกว่าเรียน แล้วร้อยเรียงบทเรียนโดยแทรกจุดที่สามารถให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นเข้าไปได้ เช่นการแบ่งทีมเพื่อแข่งขัน โดยมีกติกาหรือวิธีการเล่นที่เป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนความรู้ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถทดสอบความรู้ของเด็กได้จากการถามว่าวันนี้ได้เล่นอะไร ได้ทำกิจกรรมอะไร มีวิธีการเล่นเป็นอย่างไร ผลเป็นอย่างไร เด็กๆ ได้อะไรจากกิจกรรมนี้ เพื่อเป็นการทบทวนอารมณ์ความรู้สึกและความรู้ที่ได้ในการเรียนรู้ผ่านการเล่นนี้ ทำให้ความรู้ที่ได้ติดคงทนได้นานขึ้นอีก

Play-Based Learning ต่างจากการเรียนแบบเดิมอย่างไร?

การเรียนแบบเดิมในสมัยก่อน หรืออาจยังหลงเหลือในปัจจุบัน คือการเรียนการสอนแบบทางตรง (Direct-Instruction Approach) คุณครูจะเป็นศูนย์กลาง การเรียนแบบนี้อาจจะปิดกั้นความคิดของเด็กๆ เพราะคุณครูเตรียมบทเรียนมาแล้วสอนให้กับเด็กๆ โดยตรง ไม่ได้มีการพลิกให้ดูน่าสนุก ซึ่งบางบทเรียนก็ไม่ได้เหมาะจะให้นักเรียนทำความเข้าใจแบบตรง ๆ ซึ่งจะตรงกันข้ามกระบวนการเรียนรู้อย่าง Play-Based Learning ที่เด็กๆ ได้แก้ปัญหาด้วยตนเองโดยมีคุณครูเป็นที่ปรึกษาและตั้งคำถามเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ต่อยอดการเรียนรู้ เป็นความรู้ที่จะติดทนนานไปกับร่างกายเพราะได้ออกแรงพร้อมๆ ไปกับคิดแก้ปัญหาจากภารกิจการเล่น รวมไปถึงการได้สื่อสารกับครู เพื่อนร่วมทีม ก็จะช่วยเพิ่มทักษะด้านอื่น ๆ อีกด้วย

4 หลักคิดที่ผู้เรียนจะได้จาก Play-Based Learning

infographic 4 หลักคิดจากการเรียนรู้แบบ play-based learning

การมีส่วนร่วม (Engagement)

การเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-Based Learning) จะช่วยยกระดับการเรียนรู้ของเด็กๆ ผ่านประสบการณ์ที่ได้ปฏิบัติจริง ซึ่งต้องใช้คำถามเชิงกลยุทธ์ของผู้สอนเป็นแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ สนใจในการอยากร่วมกิจกรรม และเกิดความสงสัยอยากรู้ในสิ่งที่ตนเองกำลังเรียนรู้ ซึ่งจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการหาความรู้ระหว่างเด็ก ๆ และคุณครูหรือแม้แต่กับเพื่อนๆ ในห้อง ในส่วนนี้จะปลูกฝังให้เด็กๆ มีทักษะทางสังคมที่ดี ไม่นิ่งเฉยเมื่อทีมต้องการความช่วยเหลือ

การพัฒนาตนเอง (Self-Development)

การเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-Based Learning) ก็เป็นการเรียนรู้แบบหนึ่ง ซึ่งผลจากการเรียนรู้นั้นก็คือการได้พัฒนาตนเอง และเนื่องจากเด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริงด้วยความสนุกสนาน โดยเกิดจากการเปิดใจและความสนใจของตนเอง ดังนั้นเด็กๆ จะได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ของตนเองอยู่ทุกขณะที่อยู่ในกิจกรรม

การริเริ่มคิดสิ่งใหม่ (Innovative Skills)

จากการที่คุณครูคอยกระตุ้นให้เด็ก ๆ เกิดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ทำให้เด็ก ๆต้องนำความรู้เดิม และประสบการณ์จากการแก้ปัญหาที่เคยพบเจอ มาต่อยอดให้เกิดสิ่งใหม่ เป็นความคิดใหม่ที่คิดได้จากการร่วมกิจกรรมการเล่น ซึ่งส่วนนี้เองที่ทำให้การเรียนแบบ Play-based Learning เป็นส่วนช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มให้เกิดสิ่งใหม่กับเด็ก ๆ ได้

การสะท้อนคิดการเรียนรู้ (Reflection)

การสะท้อนคิดการเรียนรู้ หรือ Reflection จากการเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-Based Learning) เป็นการกระตุ้นให้เด็กๆ ได้ความคิดรวบยอดหรือ Abstraction ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ในครั้งนั้น และเด็กๆ ยังได้รู้จักการแบ่งปันการเรียนรู้รวมไปถึงการสรุป เพื่อเป็นการทบทวนกับตัวเอง การพิจารณาหรือการค้นพบว่าความรู้นั้นสามารถนำไปต่อยอด เชื่อมโยงกับการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ได้อีก การสะท้อนคิดการเรียนรู้นี้อาจทำโดยครูหรือผู้ปกครองก็ได้

Play-based Learning กับ Code Genius Academy

Code Genius Academy เป็นสถาบัน Coding ที่เน้นให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมและการเล่น (Play-Based Learning) ที่เหมาะสมกับช่วงวัย โดยคุณครูจะไม่ใช่เพียงผู้ชี้นำ แต่จะเป็นผู้ร่วมเล่น เด็ก ๆ จะได้ทำกิจกรรมการแก้ปัญหาที่สนุก ท้าทาย เกิดความรู้สึกที่อยากจะทำให้สำเร็จด้วยตัวเอง พร้อมทั้งได้ใช้ทักษะการแก้ปัญหาเชิง Coding ที่น่าทึ่งอีกด้วย

สรุป

การเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play-Based Learning) เป็นการเรียนรู้ที่นำเอาการเล่นซึ่งเป็นความถนัดอันดับหนึ่งของเด็กๆ มาผสานรวมกัน ช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจความรู้ที่ดูยากได้อย่างง่ายดายขึ้น เนื่องจากได้เอาตัวลงไปคลุกคลีอยู่กับกิจกรรมการเล่นที่มีความรู้ประกอบอยู่ อาจอยู่ในรูปของกติกาหรือวิธีการเล่น จนได้ซึมซับความรู้นั้นเข้าไปโดยไม่รู้ตัว พร้อมทั้งยังได้พัฒนาทักษะอื่นควบคู่กันไปด้วย

Play-Based Learning นี้จะสำเร็จได้ด้วยการร่วมมือกันของเด็ก ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ตามบทบาทของแต่ละฝ่าย ที่จะส่งเสริมให้เด็กได้มีพัฒนาการ ได้ความรู้ ความแข็งแรง การเข้าสังคม การสื่อสาร การแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง

บทความที่เกี่ยวข้อง