นวัตกรรม (Innovation) การเปลี่ยนแปลงทางความคิดเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในอนาคต
ในปัจจุบันนั้นได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลแบบเต็มรูปแบบ อีกทั้งยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ จากโลกที่หมุนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดนวัตกรรมหรือแนวความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอย่างมากมายในแทบทุกวงการ โดยนวัตกรรมที่อุบัติขึ้นมาใหม่เหล่านั้นมีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก โดยเรียกได้ว่าเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำให้ชีวิตสะดวกรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงข่าวสารความรู้ต่าง ๆ ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์นี้ได้อย่างรวดเร็วและเท่าทันโลกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จยังสามารถช่วยสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจได้อีกด้วย
นวัตกรรม คืออะไร ?
หากจะพูดถึงที่มาของคำว่า นวัตกรรม ต้องเริ่มว่าจากเดิมนั้น “นวัตกรรม” ในภาษาอังกฤษก็คือ Innovation ซึ่งเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินอย่าง “Innovare” หมายถึง “ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา” และนอกจากนั้นนิยามของคำว่า นวัตกรรม โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ให้ความหมายไว้ว่า “สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม”
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า นวัตกรรม (Innovation) คือ สิ่งที่เกิดจากการคิดค้นหรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แนวคิดใหม่ รวมถึงสิ่งที่ต่อยอดและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยอาศัยความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
นวัตกรรมแต่ละประเภทที่เป็นกลยุทธขององค์กรในโลกยุคใหม่
การแบ่งประเภทของนวัตกรรม สามารถแบ่งได้หลายรูปแบบแล้วแต่ปัจจัยในการวิเคราะห์ แต่ในวันนี้ Code Genius จะขอแนะนำการแบ่งประเภทของนวัตกรรมอย่างง่าย โดยแต่ละประเภทก็จะแตกต่างกันออกไป โดยขึ้นอยู่กับความใหม่ของเทคโนโลยีและผลกระทบที่มีต่อตลาดหรือผู้ใช้งาน สามารถจำแนกออกได้ 4 ประเภทตาม Innovation Matrix ดังต่อไปนี้
- นวัตกรรมแบบก่อกวนทำลาย (Disruptive Innovation) คือ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ และมีความสะดวกสบายต่อผู้บริโภคมากกว่าสิ่งเก่า ๆ จนเกิดเป็นผลกระทบต่อตลาดเก่าเป็นอย่างมาก เป็นนวัตกรรมที่นิยมคิดค้นขึ้นเพื่อใช้สร้างตลาดใหม่ เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อทดแทนสิ่งของเก่าโดยสิ้นเชิง
สามารถพูดถึงนวัตกรรม ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การเข้ามาของ Google Maps แทนแผนที่แบบกระดาษหรือหนังสือ, การเข้ามาของ Netflix หรือสตรีมมิ่งดูหนังต่าง ๆ ซึ่งทดแทนร้านเช่าแผ่นภาพยนตร์, การมีสตรีมมิ่งฟังเพลงหลาย ๆ แพลตฟอร์ม เช่น Spotify, Joox แทนการซื้ออัลบั้มเพลงหรือฟังช่องวิทยุ
- นวัตกรรมแบบสิ้นเชิง (Radical Innovation) คือ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่นกัน โดยมากมักเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการทดลองเพื่อเป็นต้นกำเนิดสิ่งใหม่ ๆ และยังไม่สามารถหาตลาดหรือช่องทางทำกำไรได้ เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics), ปัญญาประดิษฐ์ (AI), การตัดต่อพันธุกรรม เป็นต้น
- นวัตกรรมแบบยั่งยืน (Sustaining Innovation) คือ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเก่า ๆ และออกมาในรูปแบบที่ไม่ได้แตกต่างกับสิ่งเก่ามากนัก แต่มีผลกระทบสูงต่อผู้บริโภค มักใช้ทำให้ตลาดเติบโตขึ้น เพราะตรงจุดประสงค์ของผู้บริโภคมากขึ้น การพัฒนานวัตกรรมรูปแบบนี้มีขึ้นเพื่อกอบโกยกำไรโดยไม่ต้องหาตลาดใหม่ โดยมากมักเป็นนวัตกรรมที่ค่อย ๆ พัฒนาไปทีละเล็กทีละน้อย แต่จะเป็นนวัตกรรมที่ดีกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า เน้นความต้องการของผู้บริโภคและธุรกิจมากกว่าเทคโนโลยี หากจะยกตัวอย่าง นวัตกรรมเหล่านี้อย่างเห็นภาพ ก็คือ การออกโทรศัพท์รุ่นใหม่ของแบรนด์ต่าง ๆ ที่แข่งขันกันพัฒนาโทรศัพท์รุ่นใหม่กันแบบรายปี
- นวัตกรรมแบบต่อยอด (Incremental Innovation) คือ นวัตกรรมที่นิยมใช้กับสินค้าที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้วเพื่อเป็นการต่อยอด เช่น การเพิ่มฟังก์ชันใหม่ของแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ, การเปลี่ยนแพ็กเกจผลิตภัณฑ์ให้ดึงดูดลูกค้าและใช้ง่ายมากขึ้น เป็นต้น นวัตกรรมประเภทนี้คล้ายกับนวัตกรรมแบบยั่งยืนที่มีการพัฒนาทีละเล็กทีละน้อย และต่อยอดออกมาเป็นนวัตกรรมที่ดีกว่า โดยเน้นความต้องการของผู้บริโภคและธุรกิจมากกว่าเทคโนโลยี
รูปแบบของนวัตกรรม ที่แบ่งออกมาจากนวัตกรรมแต่ละประเภท
นวัตกรรมประเภทต่าง ๆ นั้นสามารถแบ่งรูปแบบของนวัตกรรมออกได้อีกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน ดังนี้
- นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) คือ การสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่หรือพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบดีไซน์ของสินค้า, การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้า เป็นต้น
- นวัตกรรมการดำเนินงาน (Process Innovation) คือ นวัตกรรมที่ใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานหรือการออกแบบการดำเนินงานขึ้นใหม่เพื่อให้ระบบภายในองค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดต้นทุนต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นในการผลิต เช่น การปรับปรุงวิธีการดำเนินงานภายในองค์กรให้แตกต่างออกไปจากเดิมและทันสมัยมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
- นวัตกรรมธุรกิจ (Business Innovation) คือ นวัตกรรมเพื่อใช้เปลี่ยนแปลงตลาดหรืออุตสาหกรรม เช่น การคิดพัฒนาต่อยอดสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจังและเป็นระบบภายในองค์กร เพื่อตอบโจทย์การความต้องการของผู้บริโภคในตลาด จนผลิตภัณฑ์เหล่านั้นติดตลาดและเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจในที่สุด
ประโยชน์ และความสำคัญของนวัตกรรม ในโลกยุคดิจิตอล
ในยุคปัจจุบันนั้นโลกยุคใหม่หมุนไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ก็ถูกพัฒนาและต่อยอดออกไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่านวัตกรรมนั้นมีประโยชน์และความสำคัญอยู่ที่การพัฒนาและสร้างคุณค่า ที่จะส่งผลให้สินค้าและบริการในตลาดมีคุณภาพมากขึ้นจากการแข่งขันกัน อีกทั้งการมุ่งพัฒนาสินค้าใหม่ยังเป็นการขยายขอบเขตทางธุรกิจเพื่อขยายตลาดโดยใช้นวัตกรรมด้านต่าง ๆ และนวัตกรรมเหล่านั้นหลาย ๆ อย่างก็สามารถช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดาย