Experiential Learning คือ แนวทางการเรียนรู้ที่เน้นการมีประสบการณ์ตรงเพื่อการพัฒนาทักษะและความรู้ โดยการเรียนรู้ในยุคใหม่จะเป็นการเรียนรู้ในด้านของวิธีนำ Experiential Learning มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาและการทำงาน การเรียนรู้ในรูปแบบนี้เป็นรูปแบบการเรียนรู้เชิงโต้ตอบที่ให้ประสบการณ์ตรงแก่ผู้เรียนซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
Experiential Learning คืออะไร
Experiential Learning หรือการเรียนรู้จากประสบการณ์ คือ กระบวนการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้โดยการ “ลงมือปฏิบัติจริง” เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ให้ประสบการณ์ตรงและผลลัพธ์ที่จับต้องได้ผ่านการได้ลงมือทำจริง ๆ การเรียนรู้ในรูปแบบ Experiential Learning จะช่วยส่งเสริมระดับความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการเรียนรู้ในรูปแบบเดิม ๆ อย่างการท่องจำที่เป็นการเรียนรู้ที่เรียกได้ว่าผิวเผิน
การเรียนรู้จากประสบการณ์ทำให้การเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นผ่านกระบวนการที่ผู้เรียนได้ลงมือทำ ซึ่งประโยชน์ของ Experiential Learning ในการพัฒนาทักษะและความรู้ยังมีอีกมากมาย ดังนี้
- พัฒนาทักษะชีวิต การเรียนรู้ในรูปแบบ Experiential Learning ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เช่น การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม และการตัดสินใจ จากการปฏิบัติจริงซึ่งจะช่วยทำให้ร่างกายและสมองจดจำการเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ได้ดีกว่าการเรียนรู้รูปแบบเดิม ๆ
- ช่วยเพิ่มความมั่นใจ การได้ลงมือทำและแก้ไขปัญหาจริง ๆ ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบ Experiential Learning เป็นการช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เรียนในการตัดสินใจและการจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตจริงนอกห้องเรียน
- เชื่อมโยงความรู้ทฤษฎีกับปฏิบัติ ผู้เรียนสามารถเห็นความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ที่เรียนในห้องเรียนกับประสบการณ์จริงได้ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบ Experiential Learning
- ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้แบบองค์รวม การเรียนรู้ในรูปแบบ Experiential Learning ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตัวเองและโลกใบนี้ได้ดีขึ้น เพราะผู้เรียนจะได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในหลากหลายมุมมองผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง
หลักการของ Experiential Learning
การเรียนรู้จากประสบการณ์หรือ Experiential Learning เป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพให้ผู้เรียนสามารถจดจำเนื้อหาสาระที่ได้ศึกษามานั้นได้ในระยะยาว โดยการเรียนรู้ในรูปแบบดังกล่าวเน้นหลักการการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นหลัก โดยสอดแทรกการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงในกิจกรรมต่าง ๆ พร้อมทั้งจะต้องมีการสะท้อนกลับและการประเมินผลจากผู้สอนไปสู่ผู้เรียนเพื่อให้ทราบว่าสิ่งที่เข้าใจนั้นถูกหรือผิดมากน้อยเพียงใด
การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้
กิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้นั้นเป็นองค์ประกอบและหัวใจสำคัญของ Experiential Learning เนื่องจากการที่ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้จะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองและยังทำให้การเรียนรู้ในเนื้อหาเหล่านั้นมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเรียนรู้ยุคใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีกระบวนการเรียนรู้สูงสุดและเป็นเทคนิคการสอนที่ผู้เรียนสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับตนเองได้โดยพูดคุยร่วมกับผู้สอนอีกทั้งยังเป็นการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักทักษะการคิดรวบยอดด้วยตนเองได้เป็นอย่างดี สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ Active Learning
การเรียนรู้ผ่านการทำงานจริง
แน่นอนอยู่แล้วว่า Experiential Learning หรือการเรียนรู้จากประสบการณ์ คือ รูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นไปที่กิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริงที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือทำและทดลองสิ่งต่าง ๆ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหรือโจทย์ภายในห้องเรียนด้วยตนเอง โดยมีผู้สอนคอยช่วยชี้นำแนวทางและให้ความรู้ในระหว่างการทำกิจกรรม ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสและไม่ปิดกั้นผู้เรียนในการทำสิ่งใหม่ ๆ ส่งผลให้ผู้เรียนสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่และในบางครั้งการสร้างสรรค์ผลงานหรือการที่ผู้เรียนสามารถบรรลุเป้าหมายได้ตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมการเรียนรู้อาจจะเกิดจากวิธีใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนก็สามารถเกิดขึ้นได้
การสะท้อนกลับและการประเมินผล
การสะท้อนกลับและการประเมินผลในการเรียนรู้รูปแบบ Experiential Learning ไม่ได้ชี้วัดประสิทธิภาพในการเรียนรู้โดยการทำข้อสอบแบบเดิม ๆ อีกต่อไป แต่จะเน้นไปที่การพูดคุยและสรุปผลโดยชวนผู้เรียนให้คิดตามว่าจากการปฏิบัติและลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้น ผู้เรียนได้เรียนรู้อะไรบ้างทั้งในด้านเนื้อหาสาระและทักษะต่าง ๆ ที่ได้จากการเรียนรู้ในครั้งนั้น ๆ รวมไปถึงสามารถชี้วัดได้ผ่านกิจกรรมรูปแบบการเล่นเกมแข่งขันกันภายในชั้นเรียน ซึ่งมีประสิทธิภาพต่อผู้เรียนและช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันภายในชั้นเรียนมากกว่าการประเมินผลในรูปแบบเดิม ๆ อย่างแน่นอน
การนำ Experiential Learning มาใช้ในการศึกษา
ในปัจจุบันการนำ Experiential Learning มาใช้ในการศึกษาตามโรงเรียนต่าง ๆ ก็สามารถเห็นได้อยู่ไม่น้อย เช่น การเรียนรู้ผ่านโครงการ, การพัฒนาทักษะผ่านการทดลองและกิจกรรม รวมไปถึงการสอนในห้องเรียน เป็นต้น ซึ่งเหตุผลที่การเรียนรู้ในรูปแบบ Experiential Learning นั้นเป็นที่นิยมได้ในระยะเวลาอันสั้นนั้นเนื่องจากวิธีการเรียนรู้ในรูปแบบนี้สามารถช่วยเพิ่มความสนใจและกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ มีปฏิสัมพันธ์กันภายในกลุ่มมากยิ่งขึ้น พัฒนาทักษะ Soft skills ในหลาย ๆ ด้าน อีกทั้งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและความภาคภูมิใจในผลงานของตนเองได้เป็นอย่างดี
1. การเรียนรู้ผ่านโครงการ (Project-Based Learning)
การเรียนรู้ผ่านโปรเจ็กต์ (Project-Based Learning) คือ การเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะต้องใช้ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหาจริงหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบ Experiential Learning เช่นกันเพราะผู้เรียนจะต้องลงมือปฏิบัติและศึกษาในสิ่งนั้น ๆ อย่างจริงจังจึงจะสามารถสร้างโครงการหนึ่งขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์
2. การพัฒนาทักษะผ่านการทดลองและกิจกรรม
การพัฒนาทักษะผ่านการทดลองและกิจกรรม (Play-Based Learning) คือ การเรียนรู้ที่เน้นไปที่ความสนุกสนานในการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะต้องเป็นกิจกรรมปลายเปิดที่ผู้เรียนได้ขยับร่างกาย รวมไปถึงได้คิดและลงมือหรือทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ผ่านการเล่น ซึ่งเป็นหลักจิตวิทยารูปแบบหนึ่งที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถเปิดใจในเนื้อหาที่จะเรียนรู้ได้ง่ายมากยิ่งขึ้นโดยหลักสำคัญคือต้องยึดความสนุกสนานเพลิดเพลินในการเรียนรู้เป็นอันดับแรก สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ Play-Based Learning
3. ตัวอย่างการใช้ Experiential Learning ในการสอน
การเรียนรู้ในรูปแบบ Experiential Learning สามารถประยุกต์ใช้ในการสอนได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การฝึกให้ผู้เรียนนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้จริงผ่านการทำโครงงานการทดลองในวิชาต่าง ๆ ที่จะต้องอาศัยการทดลองที่จะต้องลงมือปฏิบัติจริงผนวกกับการตั้งสมมติฐานความเป็นไปได้ที่จะต้องใช้ทฤษฎีที่ได้เรียนรู้มา หรือการใช้เทคโนโลยีหรือโปรแกรมจำลองสถานการณ์ในการฝึกเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง เป็นต้น
แต่หากเป็นการเรียนการสอนในวัยเด็กการเรียนรู้ในรูปแบบ Experiential Learning อาจนำหลักการของกิจกรรม Play-Based Learning มาใช้โดยจัดการเรียนการสอนให้มีบรรยากาศที่สบาย ผ่อนคลาย มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่ได้ขยับตัวและปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ หรือการเรียนรู้นอกสถานที่ให้เด็ก ๆ ได้พบเจอกับสิ่งใหม่ ๆ เป็นต้นนั่นเอง
สรุป
การเรียนรู้ในรูปแบบ Experiential Learning เป็นการเรียนรู้ยุคใหม่ที่เน้นไปที่การเสริมสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนผ่านการลงมือปฏิบัติจริงซึ่งมีผลวิจัยยืนยันและรองรับว่ามีประสิทธิภาพกว่าการท่องจำเนื้อหาในตำรา อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตในศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียนได้อย่างดีอีกด้วย เนื่องจากกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบ Experiential Learning มักจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Interpersonal Skills) และการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองนั้นยังช่วยสร้างเสริมทักษะการแก้ไขปัญหา ช่วยจัดระเบียบความคิดให้กับผู้เรียนได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย